มช. รับมอบเครื่องหมายรับรอง คาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร (CFO) ตอกย้ำเป้าหมาย มหาวิทยาลัยที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดย รศ.ดร.อิทธิชัย ปรีชาวุฒิพงศ์ รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นตัวแทนรับมอบประกาศนียบัตรการอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายรับรองคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร ( CFO)และคาร์บอนนิวทรัลประเภทองค์กรจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก(องค์การมหาชน) หรือ TGO ในพิธีขอบคุณและมอบประกาศนียบัตรการอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายรับรอง คาร์บอนฟุตพริ้นท์ประจำปี 2567 โดยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้รับมอบประกาศนียบัตร ดังนี้
.
.
1. พื้นที่การศึกษาแม่เหียะ ได้รับใบประกาศนียบัตรคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร
2. ศูนย์การศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หริภุญไชย ได้รับใบประกาศนียบัตรคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของ องค์กร และ Carbon Neutral
3. สถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ ได้รับใบประกาศนียบัตร Carbon Neutral
.
.
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้มีการจัดทำมาตรการการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยทำการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปแก่หน่วยงานต่างๆในพื้นที่รวมถึงการจัดการขยะของเสียที่มีการคัดแยกขยะโดยการนำขยะพลาสติกมาทำการรีไซเคิลเป็นขยะ RDFและนำน้ำเสียจากกิจกรรมต่างๆมาผลิตเป็นก๊าซชีวภาพเพื่อผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้าและผลิตเป็นก๊าซไบโอมีเทนอัด (CBG) ทดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิล รวมถึงการจัดหาคาร์บอนเครดิตเพื่อนำมาชดเชย ทำให้ในปี 2566 ประสบผลสำเร็จได้รับการรับรองความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) จากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน)
.
.
ปัจจุบันโครงการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์องค์กรและขอรับรอง Carbon Neutrality พื้นที่การศึกษาแม่เหียะ และศูนย์การศึกษาหริภุญไชย ได้ดำเนินงานแล้วเสร็จ โดยมีความมุ่งหวังที่จะให้ทุกส่วนงานในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สามารถประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กรได้ด้วยตนเอง และมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนของมหาวิทยาลัย (Carbon Neutral University) ให้ได้ 70% ในปี 2570 และ 100% ในปี 2575
.
.
สำหรับการรับมอบประกาศนียบัตรการอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายรับรอง คาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร (CFO) และ คาร์บอนนิวทรัล เป็นการย้ำเป้าหมายของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ซึ่งเป็นการแสดงออกถึงการเป็นองค์กรที่ให้ความสำคัญกับการดำเนินงานด้านคาร์บอนฟุตพริ้นท์ การชดเชยคาร์บอน มีความรับผิดชอบต่อสังคม มีความมุ่งมั่นในการดำเนินงานที่ได้มีการประเมินปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของผลิตภัณฑ์หรือองค์กร เพื่อนำไปสู่การจัดการและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนบนสังคมคาร์บอนต่ำต่อไป