รถกระทงใหญ่ “โคมคำ สุวรรณหงส์”ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สืบสานประเพณีอันดีงาม รังสรรค์รถกระทงใหญ่ “โคมคำ สุวรรณหงส์” ด้วยคติความเชื่อของชาวล้านนา เข้าร่วมในงานประเพณีเดือนยี่เป็งเชียงใหม่ ประจำปี 2566 ในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2566 ตั้งแต่เวลา 18.30 น. โดยรถกระทงใหญ่ มช. อยู่ในลำดับที่ 17 จากทั้งหมด 22 ขบวน เคลื่อนออกจากข่วงประตูท่าแพ ไปตามเส้นทางถนนท่าแพ ผ่านหน้าวัดอุปคุต แล้วตรงไปตามถนนวังสิงห์คำ ผ่านหน้าเทศบาลนครเชียงใหม่ ซึ่งเป็นจุดที่กรรมการให้คะแนน และสิ้นสุดขบวนบริเวณกาดเมืองใหม่

.

รถขบวนกระทงใหญ่ มช. ปีนี้ ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า พร้อมระบบจ่ายพลังงานไฟฟ้าเพื่อใช้ในงานประดับตกแต่ง ใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ที่สามารถประจุไฟฟ้าด้วยพลังงานสะอาด ไม่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ ไม่ก่อเกิดมลพิษทางเสียงขณะใช้งาน ตามแนวทาง มช. มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ซึ่งนอกจากจะเป็นการอนุรักษ์ประเพณีแล้วยังเป็นการรักษ์โลกอีกทางหนึ่งด้วย

.

แนวคิดในการออกแบบรถกระทง มช.

คติความเชื่อของชาวล้านนาที่สะท้อนถึงการบูชาประทีปไฟ โคมไฟ เพื่อแสดงถึงความศรัทธาต่อพระพุทธศาสนาเสมอเหมือนเป็นแสงสว่างส่องประกายไปสู่สติปัญญาและยกระดับสู่ความรู้แจ้งจากความศรัทธาสู่ภูมิปัญญาชาวบ้านสืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่นถึงปัจจุบันด้วยฝีมือและงานประณีตศิลป์ยังคงอยู่ให้เห็นจนถึงทุกวันนี้

โดยเฉพาะโคมในล้านนา ถูกนำมาใช้ในพิธีกรรมต่างๆ โดยเฉพาะงานประเพณียี่เป็ง อันเป็นประเพณีเก่าแก่ตามความเชื่อว่าเป็นการบูชาพระแม่คงคาที่ประทานน้ำมาให้ เพื่อการเพาะปลูก และการบูชารอยพระพุทธบาท ริมฝั่งน้ำนัมมทานที ในคติความเชื่อทางพระพุทธศาสนา

อีกหนึ่งความเชื่อเรื่องแม่กาเผือกที่มาแห่งเหตุการณ์จุดประทีป กล่าวถึงเมื่อครั้งพุทธเจ้าทั้งห้าพระองค์ในภัทรกัลป์ บำเพ็ญเพียรเป็นพระโพธิสัตว์ได้จุติจากแม่กาเผือก แต่เกิดพายุพัดตกลงน้ำไหลไปตามกระแสธาร แม่ไก่ แม่นาค แม่เต่า แม่โค และแม่ราชสีห์ จึงเก็บไปเลี้ยงจนเติบโต กระทั่งได้บวชเป็นฤาษี และได้มาพบกันครั้นได้ทราบชาติกำเนิดจากแม่กาที่ได้บำเพ็ญศีลในชั้นพรหมแล้ว จึงนำสัญลักษณ์ตีนกามาทำเป็นไส้ประทีปจุดพุทธบูชาเป็นจารีตสืบต่อกันมาในช่วงเดือนยี่เป็ง

เรื่องราวทั้งหมดผูกเรียงร้อยให้เป็นการบูชา “โคมคำ สุวรรณหงส์” หรือบูชาประทีปโคมไฟในคติความเชื่อของชาวล้านนา สื่อความหมายด้วยสุวรรณหงส์เทินโคมล้านนา อยู่ในตำแหน่งประธานของขบวนรถกระทง ซึ่งมียอดโคมเป็นรูปแม่กาเผือกอยู่เหนือโคมในชั้นพรหม และยังมีการแสดงประกอบขบวนเป็นการแสดงร่ายรำของเหล่านางฟ้าอย่างอภิรมย์ แสดงให้เห็นถึงความรุ่งเรืองที่เชื่อมโยงผสมผสานระหว่างประเพณีวัฒนธรรม และนวัตกรรมร่วมสมัย โดยรายละเอียดต่าง ๆ ถูกเพิ่มลงบนศิลปะแบบดั้งเดิมซึ่งยังคงอัตลักษณ์ไว้อย่างดี สื่อความหมายถึงเมืองเชียงใหม่ที่พร้อมจะพัฒนาก้าวไป และยังคงรักษาศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นไว้ได้อย่างงดงาม