อบก.ร่วมกับ มช. สัมมนาเผยแพร่ผลสำเร็จ โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมคาร์บอนต่ำในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน
องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) (อบก.หรือ TGO) ร่วมกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และศูนย์วิจัยเทคโนโลยีพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม (ETE) เร่งขยายผลการพัฒนาต้นแบบอุตสาหกรรมคาร์บอนต่ำทางด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) มุ่งสู่การเป็นเศรษฐกิจและสังคมคาร์บอนต่ำที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ในวันที่ 14 กันยายน 2565 TGO ร่วมกับ มช. จัดงานสัมมนาเผยแพร่ผลสำเร็จ โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมคาร์บอนต่ำในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน ณ ห้องประชุมนภาลัย ซี โรงแรมดุสิตธานี พัทยา จังหวัดชลบุรี โดยได้รับเกียรติจาก นายเกียรติชาย ไมตรีวงษ์ ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการ
ก๊าซเรือนกระจก เป็นประธานเปิดงานสัมมนา โดยมี รศ.วงกต วงศ์อภัย ผู้จัดการโครงการร่วมดำเนินการเป็นวิทยากรงานสัมมนา
การขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศแบบเดิมตามระบบเศรษฐกิจเส้นตรง (Linear Economy) ที่มีการนำทรัพยากรมาใช้จำนวนมากเพื่อการผลิตสินค้าและบริการ ส่งต่อให้ผู้บริโภคนำไปใช้งาน และทิ้งเป็นขยะหลังเลิกการใช้งานแล้ว (take-make-use-dispose) โดยไม่นำกลับมาใช้ใหม่ส่งผลให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมและการขาดแคลนทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะปัญหาขยะ/ของเสีย ที่มีเพิ่มมากขึ้น แนวคิดเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียนซึ่งกำลังเป็นที่สนใจของภาครัฐและเอกชนในปัจจุบัน สามารถเข้ามาช่วยแก้ปัญหาดังกล่าวได้ รวมถึงเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสังคมโดยรวม เนื่องจากเศรษฐกิจหมุนเวียนมุ่งเน้นที่การนำวัตถุดิบที่เหลือทิ้งและผลิตภัณฑ์พลอยได้ (หรือของเสีย) จากกระบวนการผลิตกลับมาใช้ใหม่หรือใช้ซ้ำตามสภาพ เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรได้อย่างสูงสุด
TGO ตระหนักถึงประโยชน์ของแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนดังกล่าว จึงเสนอให้จัดทำโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมคาร์บอนต่ำในพื้นที่ระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออกตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน ในปีงบประมาณ 2565 โดยมีโรงงานอุตสาหกรรมต้นแบบด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนรวม 8 องค์กร ที่จะได้รับโล่ประกาศเกียรติคุณ ได้แก่
1. บริษัท เจเทคโตะ (ไทยแลนด์) จำกัด
2. บริษัท ดานิลี่ จำกัด
3. บริษัท ทีพีเอ็น เฟล็กซ์แพค จำกัด
4. บริษัท มาบตาพุดโอเลฟินส์ จำกัด
5. บริษัท สแตนบี เอเชีย จำกัด
6. บริษัท เอเชีย ซิลิโคนส์ โมโนเมอร์ จำกัด
7. บริษัท เอ็น.ดี. รับเบอร์ จำกัด (มหาชน)
8. บริษัท เอ็นเอส-สยามยูไนเต็ดสตีล จำกัด
จากการดำเนินงานตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนของโรงงานอุตสาหกรรมต้นแบบจำนวน 8 องค์กร พบว่า มีปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Scope 1 และ Scope 2) เท่ากับ 2.3 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี ซึ่งมีศักยภาพการลดก๊าซเรือนกระจกจากการดำเนินงานตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนที่ปริมาณเท่ากับ 111,400 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี หรือคิดเป็นร้อยละ 5 ของปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้น