มช. ก้าวสู่องค์กรผู้นำด้านการจัดการก๊าซเรือนกระจก การันตีด้วยการรับรอง Climate Action Leading Organization
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้รับการรับรองการเป็นองค์กรผู้นำด้านการจัดการก๊าซเรือนกระจก (Climate Action Leading Organization) จากเครือข่าย Thailand Carbon Neutral Network โดยองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ซึ่งมีสถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มช. เป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนตั้งเป้าให้ทั้งมหาวิทยาลัยมีความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2032 เพื่อนำมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นต้นแบบสถาบันการศึกษาที่มุ่งแก้ไขปัญหาโลกร้อนอย่างยั่งยืน
.
“องค์กรผู้นำด้านการจัดการก๊าซเรือนกระจก” เป็นองค์กรที่แสดงถึงความเป็นผู้นำในการจัดการและรับผิดชอบต่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กร ผ่านการแสดงเจตนารมณ์ที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อมุ่งสู่คาร์บอนนิวทรัลในระดับองค์กรโดยมีปีเป้าหมายและแผนการดำเนินงานที่ชัดเจน สอดคล้องกับหลักการทางวิทยาศาสตร์และเป้าหมายของความตกลงปารีสและได้รับการรับรองคาร์บอนฟุตพรินท์ขององค์กรและมาตรฐานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ มาตรฐานสากลที่เทียบเท่า
.
ปัจจุบันการปล่อยก๊าชเรือนกระจกของโลกมีปริมาณที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นในทุกภูมิภาคทั่วโลก ความเป็นกลางทางคาร์บอน หรือการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หรือก๊าชเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์ จึงมีความสำคัญต่อโลกของเราเป็นอย่างมาก โดยในช่วงระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา หลายประเทศทั่วโลกเริ่มตื่นตัวและพยายามให้ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก (Climate Change) โดยตั้งเป้าหมายสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนอย่างเป็นรูปธรรมภายในปี 2050
.
การตื่นตัวต่อในการช่วยโลกรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงนี้ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่จึงได้ผลักดันยุทธศาสตร์เชิงรุกด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีความพร้อมของผลงานทั้งในส่วนของโครงสร้างพื้นฐาน สิ่งอำนวยความสะดวก องค์ความรู้ งานวิจัยพัฒนาบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญที่สามารถใช้เป็นฐานในการขับเคลื่อนให้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นต้นแบบของสถาบันการศึกษาที่มุ่งมั่นในการเป็นมหาวิทยาลัยที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral University) เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยแก้ปัญหาของโลกอย่างยั่งยืน โดยมีสถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มช. เป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนตั้งเป้าให้ทั้งมหาวิทยาลัย มีความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2032
.
ในการดำเนินการมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้กำหนดนโยบายนำมหาวิทยาลัยมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน โดยกำหนดเป็น 1 ในนโยบายแผน 13 ของมหาวิทยาลัย ซึ่งมุ่งสร้างต้นแบบการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ผลักดันนโยบายการใช้พลังงานทดแทน การอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ของมหาวิทยาลัย นอกจากนี้ ยังมุ่งเน้นการเพิ่มพื้นที่สีเขียว เพื่อช่วยดูดชับคาร์บอน การพัฒนาโครงการสร้างพื้นฐานที่นำไปสู่วิถีชีวิตแบบคาร์บอนต่ำ โดยตั้งเป้าเป็นต้นแบบในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ รวมทั้งลดต้นทุนการบริหารจัดการพลังงานทั้งระบบ
.
ดังจะเห็นได้จากการดำเนินการยุทธศาสตร์เชิงรุกด้านนวัตกรรมสิ่งแวดล้อมและพลังงานอย่างต่อเนื่อง อาทิ ศูนย์บริหารจัดการชีวมวลครบวงจร บริหารจัดการขยะในมหาวิทยาลัยผลิตเป็นพลังงานทดแทนใช้ในมหาวิทยาลัย ด้วยแนวคิด Zero Waste การติดตั้ง Solar Rooftop หรือแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาของอาคารต่างๆ เปลี่ยนพลังงานแสงอาทิตย์ให้เป็นพลังงานไฟฟ้า มีระบบ Solar Water Heater ผลิตน้ำอุ่นใช้ในหอพักนักศึกษา ทั้งหมดนี้สามารถลดค่าใช้จ่ายทางด้านพลังงานของมหาวิทยาลัยลงไม่ต่ำกว่า 30% อีกทั้งยังมีการบริหารจัดการพลังงานครบวงจรด้วยระบบ Smart Grid นอกจากนี้ ยังมีการจัดทำระบบรถบริการสาธารณะเพื่อลดการใช้รถส่วนบุคคล ส่งเสริมการใช้รถจักรยาน และมีบริการรถไฟฟ้าใช้สัญจรทั่วมหาวิทยาลัย ตลอดจนได้นำองค์ความรู้จากมหาวิทยาลัยไปร่วมดำเนินการกับหน่วยงานและองค์กรต่างๆ เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อีกด้วย
.
การรับรองการเป็นองค์กรผู้นำด้านการจัดการก๊าซเรือนกระจก (Climate Action Leading Organization) ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ครั้งนี้ เป็นการยืนยันถึงความมุ่งมั่นในการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยด้วยวิสัยทัศน์ “มหาวิทยาลัยชั้นนำที่รับผิดชอบต่อสังคมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ด้วยนวัตกรรม” ซึ่งจะเป็นต้นแบบที่เป็นรูปธรรม และสามารถถ่ายทอดสู่ชุมชนรอบข้างให้มีการพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป