รวพ. ดูงานสถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ หนุนงานวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และ การกักเก็บคาร์บอน CCUS มุ่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก กฟผ.
สายงาน รวพ. สนับสนุนทุนวิจัยให้สถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อศึกษาโครงการการผลิตแคลเซียมคาร์บอเนตจากยิปซั่ม FGD ร่วมกับการดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ พร้อมศึกษาเทคโนโลยี CCUS นำมาประยุกต์ใช้กับโรงไฟฟ้า ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
วันที่ 13 มีนาคม 2566 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย คณะผู้บริหาร สายงานพัฒนาโรงไฟฟ้าและพลังงานหมุนเวียน (รวพ.) นำโดย นายฉัตรชัย มาวงศ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการวิศวกรรมและก่อสร้างโรงไฟฟ้า (ชพว.) และ ผู้บริหารฝ่ายวิศวกรรมโรงไฟฟ้า (อวร.) ศึกษาดูงาน ณ ห้องปฎิบัติการ สถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อศึกษาโครงการการผลิตแคลเซียมคาร์บอเนตจากยิปซั่ม FGD ร่วมกับการดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และติดตามความก้าวหน้าของโครงการฯ โดย กฟผ. ได้เล็งเห็นความสำคัญของเทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน (CCUS – Carbon Capture, Utilization, and Storage) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่กำลังได้รับความสนใจจากทั่วโลก และยังเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่จะช่วยให้บรรลุเป้าหมาย Net Zero Emission ได้ ดังนั้น กฟผ. จึงสนับสนุนทุนวิจัยและพัฒนานวัตกรรมให้กับสถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อศึกษาการนำก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไปใช้ประโยชน์ อีกทั้งยังช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับยิปซั่ม FGD ซึ่งเป็นผลพลอยได้จากกระบวนการบำบัดไอเสียของโรงไฟฟ้า ให้กลายเป็นหินปูนที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้มากกว่าเดิม งานวิจัยนี้จึงถือเป็นอีกก้าวหนึ่งของ กฟผ. ที่จะเริ่มศึกษาเทคโนโลยี CCUS อย่างจริงจัง และนำไปประยุกต์ใช้กับโรงไฟฟ้าของ กฟผ. เพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สอดคล้องกับเป้าหมาย Carbon Neutrality และ Net Zero Emission ของประเทศไทย
ปัจจุบัน โครงการวิจัยนี้มีความก้าวหน้าของการดำเนินงานวิจัยไปแล้ว 30 เปอร์เซ็นต์ โดยคาดว่าจะได้ผลการวิจัยฉบับเสร็จสมบูรณ์ภายในสิ้นปี 2566 นี้
สำหรับ สายงานพัฒนาโรงไฟฟ้าและพลังงานหมุนเวียน ได้สนับสนุนโครงการการศึกษาการผลิตแคลเซียมคาร์บอเนตจากยิปซั่ม FGD ร่วมกับการดักจับก๊าซคาร์ดบอนไดออกไซด์นี้ เนื่องจากเป็นโครงการที่สอดคล้องกับกลยุทธ์ Triple S ของ กฟผ. ในส่วนของ Sink Co-creation หรือการเพิ่มปริมาณการดูดซับกักเก็บคาร์บอน เพื่อลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกสู่บรรยากาศ อีกทั้งยังสามารถสร้างประโยชน์ให้ กฟผ. ในเชิงพาณิชย์ได้ ตลอดจนสนับสนุนการพัฒนาอย่างยั่งยืน (BCG – Bio Circular Green Economy) เพิ่มมูลค่าให้กับ By-product โดยการใช้ ยิปซั่ม FGD จากโรงไฟฟ้าโรงไฟฟ้าแม่เมาะ จังหวัดลำปาง ซึ่งเป็นหนึ่งในโรงไฟฟ้านำร่องระบบ CCUS ของ กฟผ. ซึ่งมีแผนการดำเนินโครงการวิจัยและพัฒนาให้แล้วเสร็จภายในปี พ.ศ. 2566 และจะนำข้อมูลที่ได้จากโครงการวิจัยเหล่านี้มาพัฒนาต่อยอดในเชิงพาณิชย์ในลำดับถัดไป งานวิจัยนี้จึงมีส่วนที่ทำให้ กฟผ. ได้พัฒนาองค์ความรู้เกี่ยวกับพลังงานสะอาด ในด้านของเทคโนโลยี CCUS ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่จะช่วยตอบโจทย์การเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี ค.ศ. 2050 เพื่อลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ควบคู่ไปกับความมั่นคงทางพลังงานที่ยั่งยืน